คำถามของผู้ลงทะเบียนเข้าร่วมกิจกรรม
Open House 2024

 

ข้อ

คำถาม

คำตอบ

ด้านเกณฑ์การรับเข้า

1

อยากทราบจำนวนผู้สมัคร และจำนวนรับจริงก่อนยื่นสมัคร

นักเรียนสามารถดูข้อมูลสถิติได้จากทางสำนักทะเบียนและประมวลผล อย่างไรก็ตาม แนวโน้มในระยะหลัง TCAS ในรอบที่ 2 อัตราการแข่งขันในสาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์ และวิทยาการข้อมูลค่อนข้างสูง ตามแนวโน้มด้านการทำงาน

2

ต้องการคำแนะนำการสมัคร TCAS แต่ละรอบของคณะวิทยาศาสตร์

การเปิดรับ TCAS ของคณะวิทยาศาสตร์ มช. มีจำนวน 3 รอบ คือ รอบ TCAS1 (Portfolio), TCAS2 (Quota 17 จังหวัดภาคเหนือ) และ TCAS3 (Admission เปิดรับทั่วประเทศ) รายละเอียดดูได้ที่เว็บไซต์ http://tcas.science.cmu.ac.th

3

รอบ Portfolio โครงการนักกีฬานักเรียนสายศิลป์มีโอกาสในการยื่นสมัครหรือไม่

สำหรับโครงการรับตรงของคณะวิทยาศาสตร์เอง (ที่ต้องสมัครผ่านเว็บไซต์ tcas.science) จะกำหนดว่านักเรียนต้องมาจากสายวิทย์ สำหรับโครงการอื่น ๆ ประกอบด้วยโครงการกีฬา เด็กดีมีที่เรียน โควตาภาคเหนือ (TCAS รอบ 2) และ TCAS รอบ 3 ไม่ได้กำหนดว่านักเรียนต้องเป็นสายวิทย์ แต่นักเรียนจะต้องมีคะแนน A-level หรือ TGAT+TPAT3 ตามที่กำหนด ซึ่งเป็นวิชาที่กำนดปกติสำหรับนักเรียนสายวิทย์
อย่างไรก็ดี ขอแนะนำให้นักเรียนที่สนใจที่มีจากสายศิลป์ ควรต้องเตรียมความรู้พื้นฐานวิทยาศาสตร์ที่เข้มข้นแบบสายวิทย์ (วิชาฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา) ก่อนเข้ามาเรียนในระดับ ป.ตรี

4

คณะวิทยาศาสตร์ใช้คะแนน TPAT3 หรือไม่

ใน TCAS รอบที่ 3 คณะวิทยาศาสตร์จะมีการเปิดรับด้วยเกณฑ์ 2 เกณฑ์ คือ เกณฑ์คะแนน A-level 7 วิชา และเกณฑ์คะแนน TGAT, TPAT3 ซึ่งนักเรียนสามารถเลือกยื่นเข้าได้เกณฑ์ใดเกณฑ์หนึ่ง หรือสองเกณฑ์ก็ได้

5

สาขาชีววิทยา รอบ Portfolio มีโครงการสำหรับคนทั่วไปหรือไม่

ในรอบที่ 1 คณะวิทยาศาสตร์ มช. เปิดกว้างสำหรับนักเรียนที่มีคุณสมบัติตามโครงการต่าง ๆ ขอเพียงแค่นักเรียนมีผลงานที่สอดคล้องตามเกณฑ์ และแสดงให้เห็นถึงความตั้งใจที่อยากเรียนด้านวิทยาศาสตร์ - เทคโนโลยี ก็เป็นการเพียงพอแล้ว สำหรับนักเรียนที่กังวลเรื่องผลงานจะเพียงพอหรือไม่ หากนักเรียนมีประสบการณ์เข้าค่ายวิทยาศาสตร์ที่จัดโดยมหาวิทยาลัย เช่น ค่ายอยากเป็นนักวิทยาศาสตร์ ของสถาบันใดก็ได้ สามารถยื่นเข้าโครงการได้โดยโครงการ "สานฝันปั้นนักวิทยาศาสตร์"

6

เกรดไม่ถึงเกณฑ์สามารถยื่นรอบ Portfolio ได้หรือไม่

ในแต่ละโครงการ ได้ระบุเกณฑ์ด้านเกรดเฉลี่ยกำกับไว้ ซึ่งการยื่นรอบ Portfolio จะต้องเป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนด

ด้านโครงการและทุนการศึกษา

1

สามารถยื่นโครงการ สควค. ในรอบไหน สาขาไหนได้บ้าง และแต่ละสาขารับกี่คน

โครงการ สควค. เปิดรับใน TCAS รอบที่ 1 เท่านั้น โดยทาง สสวท. ได้จัดสรรทุนในสาขาวิชาต่อไปนี้ สาขาวิชาละ 2 ทุน : คณิตศาสตร์ วิทยาการคอมพิวเตอร์ ชีววิทยา เคมี ฟิสิกส์ รวมทั้งสิ้น 10 ทุน

2

คณะวิทยาศาสตร์เปิดรับโครงการอะไรบ้าง

มีโครงการหลากหลาย เช่น โครงการร่วมผลิตกับ สสวท. (พสวท. สควค.) โครงการกับ สวทช. (JSTP, JSTP-SCB, ฝึกทำวิจัยภาคฤดูร้อน), โครงการโอลิมปิกวิชาการ สอวน. โครงการ Gifted Math สำหรับโรงเรียนในเครือข่าย Gifted ภาคเหนือ, โครงการนักเรียนที่มีความสามารถด้านวัสดุศาสตร์, โครงการนักเรียนที่มีความสามารถด้านฟิสิกส์และดาราศาสตร์ (โครงการใหม่ TCAS2568) โครงการนักเรียนที่มีความสามารถด้านคอมพิวเตอร์, โครงการสานฝันปั้นนักวิทยาศาสตร์ (นักเรียนที่ผ่านค่ายวิทยาศาสตร์ที่จัดในระดับมหาวิทยาลัยต่างๆ  ทั่วประเทศ / ผ่านการแข่งขันด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในระดับจังหวัดขึ้นไป) ดูรายละเอียดได้ที่ http://tcas.science.cmu.ac.th

3

คณะวิทยาศาสตร์มีทุนการศึกษาอะไรบ้าง

ทุนการศึกษาของคณะวิทยาศาสตร์ มีรูปแบบต่าง ๆ ที่หลากหลาย อาทิ

  • ทุนการศึกษาแบบมีข้อผูกมัด (ทำงานในหน่วยงานที่กำหนดหลังสำเร็จการศึกษา) ภายใต้ความร่วมมือกับหน่วยงานร่วมผลิตบัณฑิต คือ สสวท. : ทุน พสวท. (มอบทุนจนถึงระดับ ป.เอก ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อเป็นนักวิทยาศาสตร์), ทุน สควค. (มอบทุนจนถึงระดับ ป.โท เพื่อเป็นครูวิทยาศาสตร์)
  • ทุนการศึกษาสำหรับนักเรียนเรียนดีแบบไม่มีข้อผูกมัด โดย คณะวิทยาศาสตร์ มช. : ทุนโอลิมปิกวิชาการ สำหรับนักเรียนที่เคยผ่านเข้าค่ายโอลิมปิกวิชาการ สอวน. 5 ทุนต่อปี และทุนวิทยพัฒน์ ยกเว้นค่าเล่าเรียนสำหรับนักเรียนที่ได้ผลการเรียนเฉลี่ยสูงที่สุดในสาขาวิชา (ตัดสินผู้ได้รับทุนหลังผ่านปี 1 เทอม 1)
  • ทุนช่วยเหลือและทุนขาดแคลน จัดสรรโดยคณะวิทยาศาสตร์ มช. และทุนของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีการคัดเลือกและสัมภาษณ์ในทุกปีการศึกษา
  • กองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.)
  • ทุนสนับสนุนการแลกเปลี่ยน - ทำวิจัยต่างประเทศ ทุนสนับสนุนการเรียนภาษาอังกฤษ โดยคณะวิทยาศาสตร์ มช. ทุนลักษณะนี้จะเปิดกว้างสำหรับนักศึกษา โดยนักศึกษามีสิทธิ์ขอรับการสนับสนุน ขึ้นอยู่กับการสนับสนุนตามนโยบาย การคัดเลือกให้ได้รับทุน เงื่อนไข งบประมาณ และวาระต่าง ๆ
  • ทุนอื่น ๆ จากภายนอก ขึ้นอยู่กับการประกาศจากหน่วยงานภายนอกที่มีความร่วมมือกับคณะวิทยาศาสตร์
  • ด้านหลักสูตร/สาขาวิชา

    1

    โครงสร้างหลักสูตรมีการเปลี่ยนแปลงบ่อยหรือไม่

    หลักสูตรส่วนใหญ่มีการปรับปรุงตามรอบการปรับปรุงหลักสูตรทุก ๆ 5 ปี เพื่อให้หลักสูตรมีความทันสมัยอยู่เสมอ ทั้งนี้ หากนักเรียนได้เข้ามาศึกษาในหลักสูตรนั้น ๆ แล้ว จะยังคงเรียนตามโครงสร้างหลักสูตรในปีที่เข้าศึกษาจนสำเร็จการศึกษา

    2

    หลักสูตรที่ใช้ มีการใช้ในการประกอบอาชีพมากเท่าไหร่

    ขึ้นอยู่กับลักษณะอาชีพที่นักเรียนสนใจ

    3

    คณะวิทยาศาสตร์มีสาขาวิชาใดบ้างที่เกี่ยวข้องกับการทำงานในโรงงานอุตสาหกรรม

    ในงานด้านอุตสาหกรรม มีสาขาในคณะวิทยาศาสตร์ที่มีความเกี่ยวข้องหลากหลายที่สามารถทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมอย่างครบกระบวนการ ทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ เช่น เคมี เคมีอุตสาหกรรม (สาขาโดยตรงสู่อุตสาหกรรม) เพื่อทำงานที่เกี่ยวข้องกับเคมี สาขาฟิสิกส์ วัสดุศาสตร์ ทำงานที่เกี่ยวข้องกับด้านวัสดุเชิงอุตสาหกรรม คณิตศาสตร์ สถิติ วิทยาการคอมพิวเตอร์ วิทยาการข้อมูล ทำงานเพื่อช่วยวางแผนการผลิตและวางแผนการบริหารจัดการในโรงงานอุตสาหกรรม หรือ ทางด้านชีววิทยา จุลชีววิทยา ชีวเคมีและชีวเคมีเทคโนโลยี ในโรงงานที่เกี่ยวข้องกับด้านชีวภาพ

    4

    คณะวิทยาศาสตร์ มช. มีสาขาวิชาที่สามารถจบมาเป็นนักนิติวิทยาศาสตร์หรือไม่

    สำหรับนักเรียนที่สนใจอยากเป็นนักนิติวิทยาศาสตร์ สามารถศึกษาได้ในสาขาต่าง ๆ ในคณะวิทยาศาสตร์ ซึ่งขึ้นอยู่กับความสนใจของนักเรียน ซึ่งที่ผ่านมามีศิษย์เก่าของคณะวิทยาศาสตร์จำนวนมากที่สำเร็จการศึกษาจากสาขาวิชาฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา ตลอดจนคอมพิวเตอร์ (และสาขาที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ) ได้ไปทำงานต่อในด้านนิติวิทยาศาสตร์ หรือตำรวจพิสูจน์หลักฐาน

    5

    คณะวิทยาศาสตร์ มช. มีสาขาวิชาเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์อาหารหรือไม่

    ในหลักสูตรด้านอาหาร สามารถศึกษาข้อมูลจากคณะอุตสาหกรรมเกษตรโดยตรง อย่างไรก็ตาม ในคณะวิทยาศาสตร์ มีหลักสูตรที่สามารถต่อยอดสู่งานด้านอาหารในเชิงลึก เช่น หลักสูตรชีวเคมีและชีวเคมีนวัตกรรม หรือ จุลชีววิทยา เพื่อนำความรู้วิทยาศาสตร์รากฐานไปประยุกต์ใช้ในงานด้านอาหารได้อย่างเข้มข้น

    6

    ผู้ที่ผ่านการวัดความรู้ความสามารถทางวัสดุศาสตร์ยังคงต้องใช้เกรดในการพิจารณาหรือไม่

    กรณีสอบผ่านการวัดความรู้ความสามารถทางวัสดุศาสตร์  (ระดับดีเยี่ยม) ยังคงต้องใช้เกณฑ์ผลการเรียนเฉลี่ยสะสม (GPAX) รวม 5 ภาคการศึกษา ไม่น้อยกว่า 2.75

    7

    สาขาวิชาเคมีอุตสาหกรรม เรียนเกี่ยวกับอะไร

    เคมีอุตสาหกรรม เป็นศาสตร์ที่ศึกษาเกี่ยวกับการผลิตสารเคมีและวัตถุดิบที่ใช้ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมปิโตรเลียม ยา เครื่องสำอาง พลาสติก และอื่น ๆ การเรียนเคมีอุตสาหกรรมจะช่วยได้รับความรู้และทักษะที่จำเป็นในการออกแบบ พัฒนา และควบคุมกระบวนการผลิตสารเคมีที่ปลอดภัย มีประสิทธิภาพ และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังเป็นสาขาวิชาที่มีการพัฒนาองค์ความรู้และนวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคและผู้ประกอบการในยุคปัจจุบัน
    หลักสูตรนี้ประกอบด้วยวิชาที่ครอบคลุมด้านต่าง ๆ ของเคมีอุตสาหกรรม เช่น เคมีพื้นฐาน เคมีอินทรีย์ เคมีปฏิกิริยา เคมีวิศวกรรม เคมีการป้องกันการกัดกร่อน เคมีการผลิตพลังงาน เคมีการจัดการสิ่งแวดล้อม เคมีชีวภาพ เคมีโพลิเมอร์ และเคมีวัสดุ นอกจากนี้ ยังได้เรียนรู้การใช้เครื่องมือและเทคโนโลยีที่ทันสมัยในการวิเคราะห์และประเมินผลของสารและผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการประยุกต์ใช้เคมีในอุตสาหกรรม รวมถึงมีโอกาสในการฝึกปฏิบัติงานจริงในโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อประยุกต์ใช้ความรู้ทางเคมีเพื่อแก้ปัญหาในอุตสาหกรรมจริง

    8

    สาขาวิชาสถิติ สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการทำงานอย่างไรบ้าง

    สถิติมีประโยชน์ต่อการศึกษาในทุกแขนงวิชาและทุกหน่วยงาน เพราะทุกแขนง วิชาจะมีการศึกษาข้อมูล เพื่อสรุปผลไปใช้ในการวางแผนและการตัดสินใจอยู่เสมอ นอกจากนั้นหน่วยงานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ภาครัฐบาลหรือภาคเอกชนยังใช้สถิติเพื่อ การวางแผนดำเนินงานและตัดสินใจสำหรับปัญหาต่างๆอยู่เสมอ
    ประโยชน์ของสถิติ ได้แก่ การเป็นเครื่องมือกลั่นกรองเบื้องต้นสำหรับการตัดสินใจ โดยเฉพาะเรื่อง การทำธุรกิจ การลงทุน การบริหารจัดการงบประมาณ และการบริหารจัดการความเสี่ยงในองค์กร นอกจากนี้สถิติยังเป็นเครื่องมือที่ใช้อ้างอิงข้อมูลย้อนหลังมาวิเคราะห์ และหาแนวทางใหม่ๆ เพื่อพัฒนาให้องค์กรประสบความสำเร็จหรือการปรับปรุงคุณภาพขององค์กรโดยดูได้จากข้อมูลย้อนหลัง เช่น ยอดขายสินค้า จำนวนสินค้าในคลัง งบประมาณย้อนหลัง เป็นต้น

    9

    สาขาวิชาคอมพิวเตอร์มีสอนด้าน Game Developer หรือไม่

    สำหรับการพัฒนาเกมส์ หลักสูตรไม่ได้มีวิชาที่สอนด้านการพัฒนาเกมส์โดยตรง อย่างไรก็ตาม ในหลักสูตรมีรายวิชาที่เกี่ยวข้องกับการเขียนแอปพลิเคชันบนมือถือ และวิชาที่เกี่ยวข้องกับ VR ที่ส่วนมากนักศึกษาจะทำโครงงานเกี่ยวกับเกมส์

    10

    สาขาวิชาคอมพิวเตอร์เปิดรับสายศิลป์หรือไม่

    สายศิลป์ สามารถเข้าศึกษาคณะวิทยาศาสตร์ มช. ได้ หากมีคะแนนเป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนด (TCAS 2 ใช้คะแนน 7 วิชาสามัญ, TCAS 3 ใช้คะแนน 7 วิชาสามัญ หรือ คะแนน TGAT, TPAT3) อย่างไรก็ตาม หากนักเรียนมีพื้นฐานด้านคณิตศาสตร์ไม่ค่อยดี จะมีปัญหาค่อนข้างมาก ดังนั้นหากมีความคุ้นเคยกับการคิดเชิงวิทยาศาสตร์ - คณิตศาสตร์  หรือมีตรรกะที่เพียงพอ ก็จะช่วยให้การเรียนเป็นไปด้วยความราบรื่น

    11

    สาขาวิชาฟิสิกส์ มีแลปเกี่ยวกับ Cosmology หรือไม่

    สาขาวิชาฟิสิกส์ มีห้องปฏิบัติการดาราศาสตร์ ทั้งนี้สำหรับงานวิจัยด้าน Cosmology มีการทำงานวิจัยผ่านความร่วมมือกับสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (NARIT)

    12

    สาขาวิชาชีววิทยา และสาขาวิชาจุลชีววิทยามีความแตกต่างกันในด้านหลักสูตรและโอกาสการทำงานอย่างไร

    ในสาขาวิชาชีววิทยา ศึกษาเกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตในแง่มุมต่าง ๆ ทั้งด้านโครงสร้าง กระบวนการทำงานในสิ่งมีชีวิต การถ่ายทอดลักษณะทางพันธุกรรมและชีววิทยาระดับโมเลกุล เทคโนโลยีการตัดต่อยีน และแยกชนิดของเอนไซม์ เทคโนโลยีการเพาะเลี้ยงเซลล์และเนื้อเยื่อพืช-สัตว์ การศึกษาชีววิทยาเชิงระบบ ชีววิทยาเชิงคำนวณชีวสารสนเทศ สรีรวิทยาหลังการเก็บเกี่ยวพืช การจำแนกสิ่งมีชีวิตและความหลากหลายทางชีวภาพ ความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งมีชีวิตกับสิ่งแวดล้อม การอนุรักษ์สิ่งมีชีวิตและทรัพยากรธรรมชาติ รวมทั้งการใช้ประโยชน์จากสิ่งมีชีวิตเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
    ส่วนในสาขาจุลชีววิทยา จะศึกษาลงลึกไปในสิ่งมีชีวิตขนาดเล็ก ศึกษาตั้งแต่ชนิดของจุลินทรีย์ ทั้งไวรัส แบคทีเรีย แอกติโนไมซีส สาหร่าย โพรโตซัว ยีสต์ ฟังไจ ครบทุกอาณาจักรของจุลินทรีย์ นอกจากนี้ ยังมีการบูรณาการเทคโนโลยี ทั้งพันธุศาสตร์ สรีรวิทยา ภูมิคุ้มกันวิทยา นิเวศวิทยา การใช้ Big Data การตัดต่อพันธุกรรม จุลชีววิทยาเชิงระบบ การผลิตทางอุตสาหกรรม ไปจนถึงการเป็นผู้ประกอบการ อีกทั้งยังมีวิชาที่กล่าวถึงบทบาทของจุลินทรีย์กับสังคมอีกด้วย
    สำหรับโอกาสในการทำงาน งานด้านชีววิทยา จุลชีววิทยา มีโอกาสในการทำงานที่หลากหลาย เช่น ครู อาจารย์ นักวิจัยทางชีวภาพ เจ้าหน้าที่ พนักงานห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ และอาชีพอื่น ๆ อีกมากมาย ทั้งนี้สำหรับสาขาจุลชีววิทยาจะมีความเฉพาะเจาะจงมากขึ้นในสายงานที่ต้องใช้ความรู้จุลชีววิทยาเชิงลึก เช่น อาชีพด้านอาหาร รวมไปถึงการควบคุมทางชีวภาพ

    13

    สาขาวิชาธรณี เรียนอย่างไร แตกต่างกับวิศวกรรมเหมืองแร่อย่างไร

    ธรณีวิทยา เป็นการศึกษาวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับโลก วัสดุที่ประกอบขึ้นมาเป็นโลก กระบวนการเปลี่ยนแปลงของโลก รวมถึงการเสาะหา จัดสรร จัดการทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่บนโลกอย่างยั่งยืน ดังนั้น นักศึกษาธรณีวิทยาจะเรียนรู้เกี่ยวกับแร่ หิน ฟอสซิล ธรณีโครงสร้าง ภูมิประเทศรูปแบบต่างๆ การกระจายตัวของหินและทรัพยากรธรรมชาติ นักศึกษาธรณีวิทยาจะมีการออกภาคสนามบ่อยครั้งเพื่อประกอบความรู้ในห้องเรียนและการศึกษาในห้องปฏิบัติการ นอกจากนี้ นักศึกษาธรณีวิทยา ยังสามารถนำองค์ความรู้เหล่านั้นไปต่อยอดในอุตสาหกรรมที่หลากหลาย เช่น น้ำบาดาล ปิโตรเลียม ธรณีวิศวกรรม เหมืองแร่ ภูมิสารสนเทศ หรือแม้กระทั่งประยุกต์กับสาขาวิทยาศาสตร์อื่นๆ เพื่อทำงานที่หลากหลายมากขึ้น
    สำหรับวิศวกรรมเหมืองแร่ จะเรียนรู้ต่างๆไปจากธรณีวิทยาค่อนข้างมาก เนื่องจาก วิศวกรรมเหมืองแร่จะเน้นไปในส่วนของการทำเหมืองแร่ การใช้เครื่องมือและอุปกรณ์ในการสำรวจ การขุดเจาะเพื่อให้ได้มาซึ่งแร่ที่สนใจหรือปิโตรเลียม ดังนั้น จะเห็นได้ว่า ความแตกต่างหลักๆคือ ธรณีวิทยา จะศึกษาและเรียนรู้ในศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับโลกที่มากกว่าวิศวกรรมเหมืองแร่ ที่เน้นการได้มาของทรัพยากรแร่และปิโตรเลียม เราจึงมีความรู้ในส่วนขององค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับโลกและการทำงานในสายงานที่หลากหลายกว่าวิศวกรรมเหมืองแร่ ดังนั้น ถ้านักเรียนชอบการเรียนรู้เกี่ยวกับโลกของเราในหลากหลายแง่มุม ชอบการเดินทางท่องเที่ยว มีความฉงนสงสัยในธรรมชาติรอบตัว รวมถึงการออกภาคสนามเพื่อรู้จริงเกี่ยวกับโลก และการไม่ยึดติดกับสายงานทางเหมืองแร่หรือปิโตรเลียม ธรณีวิทยา น่าจะเป็นตัวเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ

     

     

     



    Contact Us

    งานบริการการศึกษาและพัฒนาคุณภาพนักศึกษา
    คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
    239 ถนนห้วยแก้ว ตำบลสุเทพ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ 50200

    โทรศัพท์ : 053-943315, 053-943316

    © Copyright 2021 All rights reserved.